Whiskas imagery
ค้นหา

ใส่คีย์เวิร์ดที่ต้องการค้นหาด้านล่างเพื่อค้นหาบทความและผลิตภัณฑ์

วิธีเล่นกับน้องแมว : 5 วิธีและเกมสนุกๆ สำหรับเล่นกับแมว

การเล่นกับลูกแมวไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการอีกด้วย การเล่นมีความสำคัญต่อสุขภาพทางอารมณ์และร่างกายของลูกแมว ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เจ้าตัวน้อยจะได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม การเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงวิธีสื่อสารผ่านการจู่โจมและการวิ่งไล่ตาม

ในบทความนี้ เราจะเจาะลึกทุกประเด็นเกี่ยวกับการเล่นของแมว พร้อมแชร์เคล็ดลับดี ๆ ตั้งแต่วิธีเล่นกับลูกแมวอย่างเหมาะสม ไปจนถึงระยะเวลาและความถี่ในการเล่น มาติดตามไปพร้อม ๆ กันเลย

เพราะอะไรการเล่นถึงสำคัญสำหรับลูกแมว?

การเล่นเป็นกิจกรรมพื้นฐานสำหรับลูกแมว เนื่องจากทำหน้าที่เป็นเครื่องมือขัดเกลาพัฒนาการทางร่างกายและทางสังคม แต่เราควรเล่นกับลูกแมวอย่างไร และควรเล่นนานแค่ไหน? ขณะที่เล่น ลูกแมวจะสำรวจการเคลื่อนไหวของร่างกายตัวเอง รวมถึงพยายามปรับท่าทางเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและความแข็งแกร่ง การเล่นยังเป็นช่วงเวลาฝึกฝนทักษะการเอาชีวิตรอดซึ่งมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของพวกเค้าอีกด้วย

เมื่อคุณเล่นกับลูกแมว เท่ากับว่าคุณกำลังสอนให้พวกเค้ารู้จักวิธีจัดการพฤติกรรมของตัวเอง เรียนรู้ที่จะหยุดหรือผ่อนแรง และพัฒนาความมั่นใจ การเล่นเป็นกระบวนการที่ทำให้ลูกแมวเติบโตเป็นแมวที่ปรับตัวเก่งและมีสุขภาพดี พร้อมสำรวจโลกที่ซับซ้อนและกว้างใหญ่ต่อไป

มาเจาะลึกโลกแห่งความสนุกสนานของลูกแมวกันให้มากอีกนิด

ประโยชน์ของการเล่นกับลูกแมว

การเล่นช่วยเพิ่มความผูกพันระหว่างคุณกับลูกแมวตัวน้อยได้ ซึ่งเป็นการวางรากฐานสำหรับความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความรักและความเชื่อใจ เป็นการลงทุนกับสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี ทำให้ลูกแมวรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว การเล่นยังเป็นช่วงเวลาปลดปล่อยพลังงานอันไร้ขีดจำกัดของลูกแมวด้วย ซึ่งช่วยป้องกันปัญหาด้านพฤติกรรมที่เชื่อมโยงกับความเบื่อหน่ายและการมีพลังเหลือล้น โดยสรุปแล้ว การเล่นช่วยกระตุ้นจิตใจ ส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก และช่วยให้ร่างกายแข็งแรง

การเล่นกับลูกแมวเป็นประจำยังช่วยให้คุณค้นพบลักษณะบุคลิกภาพที่ผิดปกติหรือปัญหาสุขภาพได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ท้ายที่สุดแล้ว การเล่นจะช่วยทำให้ชีวิตของลูกแมวดีขึ้น มั่นใจได้ว่าลูกแมวจะมีความสุข สมดุล และมีสุขภาพดี

ของเล่นสำหรับลูกแมว

การเล่นเป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยม คุณอาจใช้ของเล่นนานาชนิดเป็นตัวช่วยเพิ่มความสนุกได้ด้วยนะ

เบ็ดตกปลาของเล่น

หลอกล่อลูกแมวด้วยการเคลื่อนไหวที่เลียนแบบเหยื่อขนาดเล็กเพื่อกระตุ้นสัญชาตญาณการล่าสัตว์

หนูไขลาน

มาจำลองประสบการณ์การจับเหยื่อให้ลูกแมวกัน ตุ๊กตาหนูไขลานจะทำให้ลูกแมวได้ลองวิ่งไล่ กระโจน และตะครุบเหยื่อ

ของเล่นแบบโต้ตอบ

ให้ลูกแมวมีส่วนร่วมกับเกมปริศนาหรือของเล่นที่เคลื่อนไหวได้เพื่อกระตุ้นสมองและร่างกาย

เสาลับเล็บ

เตรียมเสาหรือเสื่อลับเล็บไว้ในบ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกแมวจะมีกรงเล็บที่แข็งแรง และป้องกันการข่วนเฟอร์นิเจอร์เป็นรอยด้วย

อุโมงค์แมว

เปิดโอกาสให้ลูกแมวได้สำรวจและหลบซ่อนเพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายและสนองสัญชาตญาณตามธรรมชาติ

คอนโดแมว

เหมาะกับแมวที่มีนิสัยชอบสำรวจ อีกทั้งยังส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งและความคล่องตัว

ของเล่นแคทนิป

เป็นตัวช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและเพิ่มความสนุกสนานในการเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม

ไม้ตกแมว

ดึงดูดความสนใจและกระตุ้นให้ลูกแมวออกกำลังกายได้ดี รวมถึงช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเจ้าตัวน้อยได้อีกด้วย

ลูกบอล

เป็นของเล่นที่เรียบง่ายแต่ทรงประสิทธิภาพ เพราะกระตุ้นให้ลูกแมวอยากไล่ตามและตะครุบเหยื่อได้เป็นอย่างดี สร้างความบันเทิงให้เจ้าตัวน้อยได้ไม่มีที่สิ้นสุดเลยล่ะ

วิธีเล่นกับลูกแมว

หากคุณสงสัยว่าควรเล่นกับลูกแมวอย่างไรจึงจะส่งเสริมพัฒนาการโดยรวมของลูกแมว เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก

เลือกของเล่นที่เหมาะสม

เลือกของเล่นที่เลียนแบบเหยื่อ เช่น ไม้ตกแมวหรือหนูไขลาน เพื่อกระตุ้นสัญชาตญาณการล่าสัตว์ หลีกเลี่ยงการใช้มือหรือนิ้วเพื่อป้องกันลูกแมวติดนิสัยกัดหรือข่วน

เพิ่มความหลากหลาย

ทำให้การเล่นน่าสนใจยิ่งขึ้นด้วยการเลือกใช้ของเล่นหลาย ๆ ชนิด วิธีนี้ช่วยกระตุ้นจิตใจและดึงดูดความสนใจของลูกแมวได้ดี

ฝึกไปด้วย เล่นไปด้วย

ช่วงเวลาเล่นสนุกเป็นโอกาสที่ดีในการฝึกทำตามคำสั่งหรือสอนทริคใหม่ ๆ ให้กับลูกแมว อย่าลืมให้รางวัลเพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมเชิงบวกด้วยนะ

เล่นแบบโต้ตอบ

พยายามแบ่งเวลามาเล่นกับลูกแมวเป็นประจำ วิธีนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และทำให้ลูกแมวมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างที่ต้องการ

ดูแลอย่างใกล้ชิด

ควรจับตาดูลูกแมวขณะเล่นอยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกแมวของคุณปลอดภัยและไม่แอบกินของเล่นเข้าไป อย่าลืมซ่อมแซมของเล่นที่ชำรุดเพื่อป้องกันอันตรายด้วย

ระยะเวลาในการเล่นกับลูกแมว

สิ่งสำคัญคือต้องแบ่งช่วงเวลาเล่นและกิจกรรมที่จำเป็นอื่น ๆ ให้ดี โดยคุณสามารถทำตามคำแนะนำด้านล่างนี้เพื่อกำหนดช่วงเวลาเล่นของลูกแมว

แบ่งเล่นเป็นช่วงสั้น ๆ แต่บ่อยครั้ง

ลูกแมวมีพลังงานมากแต่สมาธิสั้น ให้แบ่งเวลาเล่นเป็นช่วงสั้น ๆ หลาย ๆ ช่วงตลอดทั้งวัน โดยเล่นครั้งละ 5 – 15

เวลาเล่นทั้งหมดในแต่ละวัน

โดยเฉลี่ยแล้ว ลูกแมวจะได้รับประโยชน์จากเวลาเล่นประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน แต่ช่วงเวลาจะแตกต่างกันไปตามอายุ สายพันธุ์ และระดับพลังงาน

ปรับเวลาเล่นตามอายุและพลังงาน

ลูกแมวที่มีอายุน้อยควรเล่นเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่บ่อยครั้งตลอดทั้งวัน แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ก็สามารถปรับเวลาเล่นให้นานขึ้นได้ คอยสังเกตสัญญาณของความเหนื่อยล้าหรือการกระตุ้นที่มากเกินไป และปรับเวลาเล่นให้เหมาะสม

เวลาพักผ่อน

ควรแบ่งเวลาเล่นและพักผ่อนให้เหมาะสม ลูกแมวจะเติบโตและพัฒนาในขณะนอนหลับ การพักผ่อนจึงมีความสำคัญพอ ๆ กับการเล่น

เมื่อแบ่งเวลาตามคำแนะนำที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว คุณจะมั่นใจได้ว่าเวลาเล่นจะเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าสำหรับลูกแมว โปรดจำไว้ว่า สิ่งสำคัญคือลูกแมวจะต้องได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความสนุกครั้งถัดไป

การเปลี่ยนเวลาเล่นให้เป็นการออกกำลังกาย

เพื่อการเล่นเป็นการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพสำหรับลูกแมว คุณต้องกระตุ้นสัญชาตญาณตามธรรมชาติของพวกเค้า รวมถึงต้องแบ่งเวลาเล่นให้เหมาะสม โดยแนะนำเลือกใช้ของเล่นที่ส่งเสริมการวิ่ง กระโดด และปีนป่าย เช่น ตัวชี้เลเซอร์ ไม้ตกแมว ลูกบอล และคอนโดแมว ของเล่นเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเผาผลาญพลังงาน แต่ยังช่วยเสริมพัฒนาการและการใช้มัดกล้ามเนื้ออีกด้วย คุณสามารถใช้ของเล่นฝึกหาอาหารเพื่อกระตุ้นสมองและร่างกายได้ด้วยเช่นกัน

โภชนาการมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมระดับพลังงานและสุขภาพโดยรวมของลูกแมว ก่อนที่จะเรียนรู้วิธีเล่นกับลูกแมวของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญคือต้องเลือกโภชนาการที่ครบถ้วนและสมดุลให้กับพวกเค้า อาหารลูกแมวควรอุดมไปด้วยโปรตีนและสารอาหารที่จำเป็นเพื่อการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ด้วยเหตุนี้ วิสกัส® จึงพัฒนาอาหารลูกแมวคุณภาพสูงหลากหลายชนิด ซึ่งคิดค้นสูตรร่วมกับสัตวแพทย์เพื่อตอบสนองความต้องการทางโภชนาการของลูกแมวที่กำลังเติบโต โปรดจำไว้ว่า ลูกแมวที่ได้รับอาหารที่เหมาะสมจะมีความกระตือรือร้นและมีความสุข พร้อมที่จะทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี

เพราะเหตุใดลูกแมวบางตัวจึงกระตือรือร้นมากกว่าเพื่อนตัวอื่น ๆ

ลูกแมวแต่ละตัวมีระดับพลังงานแตกต่างกัน โดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะปัจจัยด้านพันธุกรรม แมวบางสายพันธุ์ เช่น แมวอะบิสซิเนียน แมวเบงกอล แมวเบอร์มีส และแมวเจแปนนิส บ็อบเทล มีระดับพลังงานและความกระตือรือร้นที่สูงกว่าเพื่อนแมวสายพันธุ์อื่น นอกจากนี้ลักษณะนิสัยก็มีผลต่อระดับพลังงานเล่นกัน แมวบางตัวอาจอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้นโดยธรรมชาติ ทำให้ชอบผจญภัยและสำรวจ ในขณะที่บางตัวอาจชอบนอนพักผ่อนและขยับตัวน้อย ๆ

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเล่นของลูกแมว

  1. ควรใช้เวลาเล่นกับลูกแมวนานเท่าไร?

    ลูกแมวควรมีเวลาเล่นประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยแบ่งออกเป็นช่วงสั้น ๆ หลาย ๆ ช่วงตลอดทั้งวัน เพื่อให้เหมาะกับระดับพลังงานและความสนใจ

  2. ลูกแมววัยไหนที่สนุกกับการเล่นมากที่สุด?

    ลูกแมวจะขี้เล่นมากที่สุดในช่วงอายุ 2 – 9 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกแมวกำลังพัฒนาทักษะทางสังคม มีความอยากรู้อยากเห็น และชอบสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัว 

  3. จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกแมวมีความสุข?

    หากคุณเห็นลูกแมวเล่นบ่อย ๆ นั่นถือเป็นสัญญาณแห่งความสุข ลูกแมวที่มีความสุขอาจแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ส่งเสียงเพอร์ นวดตัวให้ หรือชวนให้เล่นด้วย นอกจากนี้ลูกแมวจะมีภาษากายที่ผ่อนคลายและความอยากอาหารที่ดีอีกด้วย

  4. ทำไมลูกแมวถึงชอบกัด?

    การกัดเป็นเรื่องปกติของการเล่นกับลูกแมว อย่างไรก็ตาม นี่อาจเป็นสัญญาณของการถูกกระตุ้นมากเกินไป หรือคุณอาจจำเป็นต้องปรับรูปแบบการเล่นให้มีการโต้ตอบมากขึ้น

  5. เราจะเล่นกับลูกแมวโดยไม่มีของเล่นได้อย่างไรบ้าง?

    ในการเล่นกับลูกแมว คุณสามารถใช้เชือก ลูกบอลกระดาษ หรือแม้แต่กล่องลังเพื่อสร้างความสนุกให้กับลูกแมวตัวน้อยได้

Whiskas buy online