Whiskas imagery
ค้นหา

ใส่คีย์เวิร์ดที่ต้องการค้นหาด้านล่างเพื่อค้นหาบทความและผลิตภัณฑ์

รวมพฤติกรรมทางสังคมของน้องเหมียวที่ทาสแมวควรรู้

หลายคนคิดว่าแมวมีนิสัยถือตัวและรักสันโดษ สิ่งนี้ไม่เป็นความจริงเสมอไป น้องแมวบางตัวชอบอยู่ตามลำพัง บางตัวก็ชอบเข้าหาผู้คน

พวกเค้าอาจเติบโตมาเป็นแมวที่มีความมั่นใจ ขี้อาย เป็นมิตร หรือก้าวร้าวก็ได้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักจะถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของแมว หากดูแลและฝึกฝนอย่างเหมาะสมในช่วงวัย 2 – 7 สัปดาห์ น้องแมวของคุณก็อาจมีนิสัยเป็นมิตรมากขึ้น อ่อนโยนขึ้น และมีพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยลง

น้องแมวอาจแสดงออกไม่มากเท่ากับน้องหมา แต่พวกเค้าก็มีวิธีแสดงความรักในแบบของตัวเอง อย่างการที่น้องแมวเลียเจ้าของ ขดตัวเข้าหา และส่งเสียงร้องออดอ้อน นั่นแปลว่าพวกเค้ารักและต้องการความสนใจ

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การดูแลและฝึกฝนมีส่วนช่วยในการปรับพฤติกรรมของแมว ในบทความนี้ เราจึงนำเคล็ดลับการฝึกเข้าสังคมให้เจ้าตัวน้อยมาฝากกัน

ทำไมต้องฝึกเข้าสังคม? และมีวิธีการฝึกอย่างไรบ้าง?

เชื่อว่าทาสแมวทุกคนอยากให้เจ้าเหมียวเป็นเด็กดี ไม่ก้าวร้าวกับเพื่อน ๆ สัตว์เลี้ยง และสามารถปรับตัวเข้าหาผู้คนได้ดี โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้หากคุณฝึกพวกเค้าตั้งแต่ยังเป็นลูกแมว เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่สำคัญสำหรับการพัฒนาพฤติกรรมและสังคม หากแนะนำให้น้องแมวรู้จักกับสัตว์เลี้ยง เด็ก หรือผู้คนเป็นประจำ พวกเค้าก็จะเติบโตมามีนิสัยเป็นมิตร แต่หากไม่เคยพบเจอผู้คนหรือสัตว์ตัวอื่นเลย พวกเค้าก็อาจรู้สึกหวาดระแวงเมื่อต้องเจอคนแปลกหน้าเมื่อโตขึ้น

การเดินเล่นนอกบ้าน เข้าร้านตัดแต่งขน หรือไปตรวจสุขภาพที่คลินิก เป็นวิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้เจ้าตัวน้อยของคุณได้พบปะผู้คนและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนสี่ขาตัวอื่น นอกจากจะเปิดโอกาสให้น้องแมวได้เข้าสังคมแล้ว กิจกรรมเหล่านี้ยังช่วยสร้างความคุ้นเคยกับการเล่นและการสัมผัสจากผู้อื่น หากน้องแมวก้าวร้าว คุณอาจต้องใช้ความอดทนมากหน่อย และควรฝึกให้พวกเค้าเข้าสังคมแบบค่อยเป็นค่อยไป

การฝึกเข้าสังคมให้กับน้องแมวขี้อาย

น้องแมวที่ขี้อายมักจะวิ่งหนี ซ่อนตัว หรือหลบเลี่ยงเมื่อพบเจอคนแปลกหน้า วิธีปรับพฤติกรรมที่ดีที่สุดคือคุณต้องทำให้พวกเค้ารู้สึกปลอดภัยก่อน โดยสามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • จัดเตรียมพื้นที่ให้หลบซ่อนเพื่อลดความวิตกกังวล
  • ฝึกให้เข้าสังคมเป็นประจำ
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าน้องแมวไม่ได้โดนรังแก
  • นั่งรออย่างสงบเพื่อให้น้องแมวคุ้นเคยกับการมีอยู่ของคุณ และเปิดโอกาสให้พวกเค้าเป็นฝ่ายเข้าหาก่อน คุณอาจให้ขนมเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีกับเจ้าตัวน้อยได้

เมื่อทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว น้องแมวจะมีท่าทีเป็นมิตรและมีความมั่นใจมากขึ้น จากนั้นให้เริ่มฝึกเข้าสังคมด้วยการเล่นหรือให้รางวัลเป็นขนมเมื่อพวกเค้าเข้ามาใกล้ คุณอาจสร้างความคุ้นเคยให้มากยิ่งขึ้นด้วยการลูบหรือสัมผัสตัวพวกเค้าเบา ๆ

การฝึกเข้าสังคมให้กับน้องแมวขี้เล่น

แมวขี้เล่นและเป็นมิตรคือน้องแมวในฝันของใครหลายคน แต่ความคิดนี้อาจเปลี่ยนไปเมื่อต้องเจอกับอาการคึกในช่วงกลางดึก การวิ่งวนไปมาอย่างรวดเร็ว การปัดข้าวของในบ้านให้ล้มระเนระนาด และการเล่นจู่โจมเพื่อนสี่ขาตัวอื่นด้วยความสนุก ซึ่งในไม่ช้าอาจกลายเป็นการต่อสู้ที่จริงจังได้! หากมีแมวขี้เล่นอยู่ในบ้าน คุณอาจลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้

  • ทำให้ช่วงเวลาเล่นสนุกมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้น้องแมวเล่นเกมหรือทำกิจกรรมฝึกทักษะที่ต้องใช้พลังงานสูง
  • พาไปทำกิจกรรมนอกบ้าน แต่แนะนำให้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการถูกรังแกโดยเด็กหรือสัตว์ตัวอื่น
  • หากน้องแมวชอบเล่นหรือจะมีอาการคึกเพียงช่วงเวลาหนึ่ง ปล่อยให้พวกเค้าเล่นจนกว่าจะพอใจหรือเหนื่อยไปเอง โดยไม่จำเป็นต้องห้ามแต่อย่างใด
  • ในกรณีที่น้องแมวเลียตัวอย่างรุนแรง อาจเป็นเพราะมีอาการคันหรือคลื่นไส้ หากยังคงเลียอย่างต่อเนื่องและมีอาการเครียดร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ในทันที คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจหาโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของพฤติกรรมกระสับกระส่ายดังกล่าว

การฝึกเข้าสังคมให้กับน้องแมวขี้กลัว

หากน้องแมวของคุณขี้อายหรือขี้กลัวมาก มันอาจเป็นเพราะกรรมพันธุ์ หรืออาจเกิดจากประสบการณ์เลวร้ายในอดีตจนกลายเป็นบาดแผลในใจ เจ้าตัวน้อยเหล่านี้ต้องการความรักและความเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ คุณอาจทำตามวิธีต่อไปนี้เพื่อบรรเทาความหวาดกลัว

  • การรับมือกับน้องแมวขี้กลัว คุณต้องอดทนและปฏิบัติกับพวกเค้าอย่างอ่อนโยน ปล่อยให้น้องแมวเป็นฝ่ายเข้าหาก่อน หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้พวกเค้าตกใจ รวมถึงให้ความสำคัญกับความต้องการของพวกเค้าเป็นอันดับแรกเสมอ
  • ทำทุกอย่างให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้น้องแมวรู้ว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง และเวลาใดที่พวกเค้าต้องพบเจอผู้คนหรือฝึกการเข้าสังคม
  • จัดเตรียมมุมหลบซ่อนไว้รอบ ๆ บ้าน เพื่อให้น้องแมวมีพื้นที่ปลอดภัยเมื่อรู้สึกวิตกกังวล

การฝึกเข้าสังคมให้กับน้องแมวก้าวร้าว

เริ่มด้วยการทำความเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าวกันก่อน เนื่องจากตัวกระตุ้นบางตัวก็ทำให้เกิดพฤติกรรมเพียงชั่วคราวและสามารถจัดการได้ แต่ตัวกระตุ้นบางตัวก็มีวิธีจัดการที่ยุ่งยากกว่า ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับในการฝึกเข้าสังคมให้กับน้องแมวที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว

  • หลีกเลี่ยงการเล่นที่อาจก่อให้เกิดการต่อสู้ การกัด หรือการข่วน คุณสามารถจัดเตรียมของเล่นสำหรับกัดแทะหรือเสาลับเล็บให้พวกเค้าเล่นแทนได้
  • หากต้องรับน้องแมวตัวใหม่เข้าบ้านโดยที่มีสัตว์เลี้ยงตัวอื่นอยู่แล้ว ควรแยกพื้นที่พักผ่อน มุมให้อาหาร และมุมขับถ่ายของใครของมัน จนกว่าพวกเค้าทั้งหมดจะคุ้นเคยกันดี
  • การเพิกเฉยต่อพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นวิธีรับมือที่ดีกว่าการลงโทษ
  • หลีกเลี่ยงการแปรงขนบ่อย ๆ และรีบปรึกษาสัตวแพทย์หากพฤติกรรมแมวก้าวร้าวยังคงอยู่

รวมเคล็ดลับดี ๆ ในการฝึกเข้าสังคมให้แมวเหมียว

  • พูดกับเจ้าตัวน้อยด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ปรับท่าทางของคุณให้นิ่งและมั่นคง การส่งเสียงดังหรือการกระทำที่ไม่อยู่นิ่งอาจสร้างสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดให้กับน้องแมว
  • ในการอุ้มลูกแมวตัวน้อย ควรวางฝ่ามือไว้ใต้อกและค่อย ๆ ยกขึ้น เพื่อให้พวกเค้ารู้สึกปลอดภัย ทั้งนี้ลูกแมวจะต้องไม่เกร็งตัวในขณะที่ถูกอุ้ม
  • ในช่วงแรก ๆ ลูกแมวอาจมีขอบเขตในการเข้าหา หากต้องการลูบหรือสัมผัสตัว ให้เริ่มจากบริเวณหัวและหลังก่อน เมื่อน้องแมวคุ้นเคยและรู้สึกสบายใจมากขึ้น อาจลองลูบท้องของพวกเค้าดูได้ หรือถ้าเจ้าตัวน้อยส่งเสียงร้องเพอร์พร้อมนอนหงายโชว์พุง แปลว่าพวกเค้าอนุญาตให้คุณสัมผัสพุงน้อย ๆ ที่หวงแหนแล้ว
  • ในการเข้าหาลูกแมวตัวใหม่ของบ้านนั้น แนะนำให้ก้มตัวลงมาอยู่ในระดับเดียวกันหรืออยู่ใกล้พื้นมากที่สุดในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรก เพื่อให้พวกเค้าหวาดกลัวน้อยลง ซึ่งก็จะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลในลูกแมวได้ดี

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฝึกเข้าสังคมให้แมวเหมียว

  1. วิธีใดบ้างที่ช่วยให้น้องแมวได้ฝึกเข้าสังคมบ่อยขึ้น?

    การฝึกเข้าสังคมเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก คุณอาจพาเจ้าตัวน้อยออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ ไปอาบน้ำตัดขน หรือไปตรวจสุขภาพ เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเค้าได้พบปะกับผู้คนและสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ

  2. จะช่วยให้น้องแมวปรับตัวเข้าหาคนแปลกหน้าได้อย่างไรบ้าง?

    สิ่งสำคัญคือต้องมีความอดทนและให้อิสระกับน้องแมว ปล่อยให้พวกเค้าเป็นฝ่ายเข้าหาก่อน หลีกเลี่ยงการบังคับเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเค้าจะมีประสบการณ์ที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้การเข้าสังคมในอนาคตผ่านไปได้อย่างราบรื่น

  3. จะทำอย่างไรให้น้องแมวเลิกหวาดกลัวผู้คน?

    คุณต้องมีความอดทนและจัดเตรียมพื้นที่หลบซ่อนตัวเอาไว้ให้พร้อม เพื่อให้พวกเค้าสามารถหลบหนีได้เมื่อรู้สึกเครียด ปล่อยให้พวกเค้าเป็นฝ่ายเข้าหาก่อนเสมอ อาจให้รางวัลเพื่อกระตุ้นให้น้องแมวอยากเข้าหาผู้คนมากยิ่งขึ้น

  4. จะป้องกันไม่ให้น้องแมวแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับคนแปลกหน้าได้อย่างไร?

    พฤติกรรมก้าวร้าวอาจเกิดจากประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ คุณต้องมอบความรักและปฏิบัติกับน้องแมวอย่างอ่อนโยน รวมถึงควรสร้างประสบการณ์ที่ดีกับคนแปลกหน้าเพื่อลดผลกระทบจากประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีต โดยสามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้

Whiskas buy online